วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เวลาจอดรถ ควรยกก้านปัดน้ำฝนขึ้นหรือไม่?

          ในขณะที่จอดรถ เราไม่ควรยกก้านปัดน้ำฝนขึ้นนะครับ เพราะในก้านปัดน้ำฝน จะมีสปริงยึดไว้อยู่ เพื่อกดให้ก้านปัดน้ำฝนแนบกระจกรถตลอดเวลา เมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง ลมที่ไหลผ่านกระจกหน้ารถ จะยกให้ใบปัดน้ำฝนลอยตัว สปริงในก้านปัดก็จะคอยกดไม่ให้ใบปัดน้ำฝน ยกตัวขึ้นนั่นเอง หากเรายกก้านปัดบ่อยๆ ก็จะเป็นสาเหตุให้สปริงล้าและไม่มีแรงกดใบปัดน้ำฝนได้ครับ ทำให้ก้านปัดไม่มีแรงกดดังกล่าว แถมยังทำให้ปัดกระจกไม่เอี่ยมด้วยครับ...
          เข้าหน้าฝนแล้ว...ดูแลรถแล้วอย่าลืมดูแลตัวคุณเองด้วยละครับ...

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สาเหตุของแบตเตอรี่เสื่อม

          โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว การเสื่อมของแบตเตอรี่ มีมากมายหลายประการมาก แต่จากประสบการณ์ที่เจอ หนีไม่พ้นที่จะแนะนำบอกกล่าวไม่กี่อย่างเองครับ...
       
          สาเหตุของแบตเตอรี่เสื่อมที่เจอมากที่สุด มีดังนี้ครับ

          1.จอดรถเป็นเวลานาน (ตั้งแต่ 2-3 อาทิตย์ ขึ้นไป) เพราะแบตฯ.จะคลายประจุหมด โดยไม่มีการชาร์ทไฟเข้าหม้อแบตฯ.เลย แก้ไขโดยนำไปชาร์ทไฟตามปรกติ ถ้าชาร์ทเข้าและแบตฯ.เก็บไฟอยู่ ก็ใช้การได้ตามปรกติครับ
          2.ปล่อยให้น้ำกรดในหม้อแบตฯ.แห้ง หรือต่ำกว่าระดับที่กำหนด
             การที่น้ำกรดในหม้อแบตฯ.จะแห้งได้ ต้องเกิดจากการใช้งานมาเป็นเวลานานพอสมควร (อาจจะ 1 ปีขึ้นไป หรือมากน้อยกว่านี้โดยประมาณ หรือ ไดชาร์ททำงานตลอดเวลา ตัวคัทเอาท์ไฟไม่ตัดเมื่อแบตเตอรี่เต็ม ทำให้ความร้อนเกิดขึ้น น้ำในแบตฯ.จึงค่อยๆระเหย จนแห้งในที่สุด
            แก้ไขโดยต้องสร้างวินัยให้ตัวเอง โดยการตรวจระดับน้ำกรดในแบตฯ.ทุกๆ 3เดือนเป็นอย่างน้อย หากแบตฯ.แห้ง ให้รีบเติมน้ำกลั่น ให้ได้ระดับขีดบนสุดที่กำหนดไว้ (ปรกติจะชนเสมอกับขอบพลาสติกที่ยื่นลงภายในของแต่ละช่อง (ตามรูป)




ภาพแสดงระดับการเติมน้ำกลั่น


ภาพแสดงระดับการเติมน้ำกลั่นต่ำและปกติ



            ในการเติมน้ำกลั่นลงในหม้อแบตฯ.เมื่อแห้ง อาจมีผลทำให้รถสตาร์ทไม่ติด เนื่องจาก ถพ.(ความถ่วงจำเพาะ)ของน้ำกรดต่ำกว่าที่กำหนด หรือกรดจืดนั่นเอง แก้ไขโดยนำไปชาร์ท ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ตามปรกติครับ...
          3.ตัวระบบรถเองมีปัญหาในเรื่องไดชาร์ท, ไดสตาร์ท, คัทเอาท์แบตฯ. หรือ ไฟรั่วในรถยนต์เอง ทำให้ไปกระทบกับตัวแบตฯ.ทางอ้อม ซึ่งกรณีนี้ คงต้องแนะนำให้ไปหาช่างที่ไว้ใจได้ต่อไปครับ

          นี่คือ 3 สาเหตุหลักที่ทำให้แบตฯ.ของรถคุณ เสื่อมสภาพได้ครับ ลองไล่หาสาเหตุดูครับว่า เกิดจากอาการเหล่านี้หรือไม่ครับ ส่วนนอกเหนือจากนี้ ลองนำมาเล่าแชร์ประสบการณ์สู่กันฟังในวันหน้าก็ได้นะครับ...

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่ !!!


          ผมเคยตอบคำถามหลายครั้งมาก เกี่ยวกับความจุของแบตเตอรี่ ว่าแต่ละรุ่นนั้นจุกระแสได้เท่าไร?  และหลายครั้งมากที่ผู้ใช้แต่ละคน เข้าใจอย่างไม่ถูกต้อง เลยขอใช้พื้นที่นี้ มาให้ความรู้ที่ถูกต้องสักครั้งเพื่อประโยชน์กับตัวท่านเอง ในการเลือกใช้แบตฯ.ให้ตรงรุ่นที่สุดครับ

          นี่คือตารางรุ่นและความจุของแบตเตอรี่ที่มีขายตามท้องตลาดครับ





           รุ่นที่คนถามมากที่สุดคือ NS100 กับ G120 ครับ !!!

           NS100 คนมักเข้าใจว่าเป็น 100 แอมป์ครับ แต่ถ้าดูในตารางที่ถูกต้องคือ 75 แอมป์ครับ ไม่ใช่ 100 แอมป์อย่างที่เข้าใจกัน 100 คือรุ่นครับไม่ใช่แอมป์ แอมป์จริงๆคือ 75 ครับ ในทำนองเดียวกัน G120 ก็ไม่ใช่ 120 แอมป์ครับ มันเป็นรุ่นในการกำหนดของแต่ละบริษัทครับ กระแสจริงๆคือ 80-85 แอมป์ครับ
          ที่อยากให้รู้ก็คือ ตัวท๊อปของปิคอัพแต่ละรุ่น ใช้รหัส 105D31R/L ครับ ( R/L เป็นแค่การสลับขั้วของแบตฯ.เพื่อวางแบตฯ.ให้เหมาะสมกับเรื่องยนต์ครับ ตามรูปล่าง) จุตะกั่วได้สูงสุดแค่ 19 แ่ผ่นครับ


ตัวอย่างของแบตเตอรี่ขั้ว R / L

  

          จำนวนตะกั่วในแต่ละช่องของแบตเตอรี่ขนาด 70 แอมป์ (กว้างxยาวxสูง เท่ากัน ต่างกันแค่จำนวนแผ่นตะกั่วที่ใส่ในแต่ละช่องครับ ยิ่งใส่เยอะยิ่งกระแสสูงและราคาก็จะแพงขึ้นครับ)  สามารถใส่ได้ตั้งแต่ 13 แผ่น, 15 แผ่น, 17 แผ่น และสูงสุดในตอนนี้คือ 19 แผ่น ซึ่งก็คือรุ่นท๊อปของแต่ละยี่ห้อซึ่งก็คือ 105D31R/L นั่นเองครับ
          ในการใช้งานให้เหมาะสม โดยเน้นที่รถปิคอัพก่อนนะครับ ควรใช้ดังนี้

          N70, 65D31R/L เหมาะกับเครื่องยนต์ ไม่เกิน 2500 CC.
       
          N70Z, NS100, 75D31R/L เหมาะกับเครื่องยนต์ 2500-2700 CC.        

          95D31R/L, G120, NS120 เหมาะกับเครื่องยนต์ 2800-3000 CC.

          105D31R/L เหมาะกับเครื่องยนต์ 3000 CC. ขึ้นไป และรถที่ใช้ไฟเยอะๆหรือเล่นเครื่องเสียง

          ฉะนั้นในการเปลี่ยนแบตฯ.ครั้งต่อไป ลองพิจารณาตามข้อมูลที่ได้ให้กับท่านไว้ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับรถของท่านได้เลยครับ...

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง...จำเป็นหรือไม่???


หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง เท่าที่ทราบ บางยี่ห้อที่ดีๆจะมีสารเพิ่มประสิทธิภาพใส่มาเพื่อช่วยเพิ่มความหนืดของฟิล์มน้ำมันเครื่องให้ข้นขึ้น เพื่อชะลอการกินน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ของท่าน โดยเฉพาะในบางรายที่เครื่องเก่ามากแล้ว ใกล้ฟิตใหม่เต็มทีก็อาจจะรู้สึกดีหน่อย ทำให้รู้สึกได้ว่ากินน้ำมันเครื่องน้อยลง หรือไม่กินเลย และในบางรายอาจมีความรู้สึกว่า เครื่องฟิตขึ้น เร่งเร็วและแรงขึ้น ลดควรดำ ฯลฯ. ซึ่งก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนครับ
          แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ว่ากันตามตรง ถ้าไม่เคยใช้ อย่าใช้ดีกว่าครับ เลือกน้ำมันเครื่องที่เกรดสูงหน่อย มีสารเพิ่มประสิทธิภาพที่อาจมีเหมือนในหัวเชื้อน้ำมันเครื่องน่าจะดีกว่านะครับ  แต่ถ้าเคยใช้แล้วรู้สึกว่าดี...ย้ำ...รู้สึกว่าดี..รู้สึกได้ว่าเครื่องโอเค ก็จงใช้ต่อไปครับ เพราะว่าอาจจะเหมาะกับรถของท่านก็ได้      
          ส่วนใหญ่ผมจะแนะนำให้ใช้น้ำมันเครื่องดีๆแทนการใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องครับ รถปิคอัพใช้น้ำมันเครื่องเกรด CF-4 ขึ้นไปก็ใช้ได้แล้วครับ ความหนืดที่เหมาะสม ถ้ารถเก่าหน่อยใช้ SAE 20w-50  ถ้าใหม่หน่อยใช้ SAE 15w-40 ก็เหมาะดีครับ แต่ถ้ารถของท่านเป็นเครื่องคอมมอนเรล เหมาะที่สุดควรเป็น SAE 10w-30 ตรงรุ่นเลยละครับ


ตัวอย่างหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง