วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

SAE ...คือ...?


          นอกเหนือจากเกรดของน้ำมันเครื่องแล้ว ยังมีอีกอย่างที่ผู้ใช้รถอย่างเราควรทราบ..ก็คือ...
ค่าความหนืดของน้ำมันครับ !!!
          SAE ย่อมาจาก Society of Automotive Engineering หมายถึง สมาคมวิศวกรยานยนต์ เป็นสมาคมที่ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย และวางกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา
          SAE จะใช้การวัดค่าความหนืดของน้ำมัน(ความข้นใส)เป็นหลักครับ โดยแบ่งเป็น 2 เกรด คือ
          1.น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว (โมโนเกรด)
          2.น้ำมันเครื่องเกรดรวม (มัลติเกรด)


          น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว (โมโนเกรด) เป็นน้ำมันที่ใช้เลขตัวเดียวเป็นตัวกำหนดค่าความหนืดของน้ำมันครับ เช่น SAE 30 , SAE 40 หรือ SAE 50 เป็นต้น ตัวเลขต่ำแปลว่าความหนืดต่ำ ตัวเลขยิ่งสูงคือยิ่งหนืดครับ ความหนืดของน้ำมันจะไม่เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว ความหนืดจะคงที่ครับ (ตามเบอร์ที่ใช้) เบอร์ยอดนิยม น่าจะเป็น SAE 40 เป็นสเปคของเครื่อง TFR(มังกรทอง) ที่ใช้กับรถตั้งแต่ปี 1987-1995 และความหนืด SAE 40 นี้ยังเหมาะกับรถรอบไม่จัดมาก รถรุ่นเก่าๆที่เริ่มกินน้ำมันเครื่องครับ หรือรถบรรทุก 6 ล้อ หรือ 10 ล้อ ก็ใช้ได้ดีครับ อ้อ...ดูค่า API ด้วยนะครับ อย่างน้อยควรจะ API CC ขึ้นไปครับ ถ้าเป็น API CF ขึ้นไปยิ่งดีมากครับ...

          น้ำมันเครื่องเกรดรวม (มัลติเกรด) เป็นน้ำมันเครื่องที่ใช้เลข 2 ตัวกำกับครับ เช่น SAE 15w40 , SAE 20w50 หรือ SAE 10w30 เป็นต้น ค่าของมันบ่งบอกอะไรแก่เราได้บ้าง?... ค่าตัวเลข 2 ตัว บอกให้เราได้รู้ว่า เมื่ออุณหภูมิต่ำ ค่าความหนืดน้ำมันก็จะต่ำตามอุณหภูมิครับแต่ไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ครับ และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ค่าความหนืดน้ำมันก็จะปรับตัวสูงตามอุณหภูมิแต่ไม่เกินค่าที่กำหนดเช่นกันครับ
          ยกตัวอย่าง เช่น น้ำมันเครื่อง SAE 10w30  เป็นน้ำมันเครื่องที่ถูกออกแบบมา ให้มีค่าความหนืด SAE 10w เมื่อทำงานที่อุณหภูมิต่ำ และมีค่าความหนืด SAE 30 ที่อุณหภูมิสูงขึ้น โดย ค่า " w " เป็นตัวย่อของ " winter " ที่ระบุค่าความหนืดของน้ำมันภายใต้อุณภูมิต่ำ นั่นเอง
          รถรุ่นใหม่ๆ นิยมใช้น้ำมันเครื่องแบบมัลติเกรดมากกว่า โมโนเกรดครับ เพราะตอบสนองการทำงานได้ดีกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า ทำให้เหมาะสมกว่า ในหลายๆด้านครับ โฆษณาบางตัว ยังคุยเลยครับว่า " ปกป้องทันทีที่สตาร์ท " ก็จะไม่ปกป้องอย่างไรเล่าครับ ในเมื่อน้ำมันใสกว่า สามารถไปเคลือบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ลดการเสียดสีระหว่างเครื่องทันที...เช่นนั้นแล้วก็พิจารณากันเอาเองนะครับ ว่าจะใช้น้ำมันเครื่องแบบไหนดีให้เหมาะสมกับรถของท่าน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ.....



ตัวอย่างน้ำมันเครื่อง SAE 10w40

ตัวอย่างน้ำมันเครื่อง SAE 10w30












วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มาตรฐานน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล


          จากบทก่อน ได้อธิบายชั้นมาตรฐานน้ำ้มันเครื่องเบนซินแล้ว ฉะนั้นบทนี้ คงหนีไม่พ้นต้องมาขยายความต่อเรื่องชั้นมาตรฐานของน้ำมันเครื่องดีเซลครับ...

          ชั้นมาตรฐาน น้ำมันเครื่องดีเซล


          CA  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้งานเบา เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตขึ้นระหว่าง คศ. 1910-1950 (พ.ศ.2453-2493) มีสารเพิ่มคุณภาพเล็กน้อย เช่น สารป้องกันการกัดกร่อน สารป้องกันคราบเขม่าไปเกาะติดบริเวณลูกสูบผนังลูกสูบและแหวนน้ำมัน
          CB  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดา งานเบาปานกลาง มาตรฐานนี้เริ่มประกาศใช้เมื่อ คศ. 1949 (พ.ศ.2492) มีคุณภาพสูงกว่า CA โดยสารคุณภาพดีกว่า CA
          CC  สำหรับเครื่องยนต์ที่ติดซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบ มาตรฐานนี้เริ่มประกาศใช้เมื่อ คศ. 1961(พ.ศ.2504) ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่า CB โดยเพิ่มคุณสมบัติในการป้องกันคราบเขม่ามีสารป้องกันสนิมและกัดกร่อน ไม่ว่าเครื่องยนต์จะร้อนหรือเย็นจัดก็ตาม
          CD  สำหรับเครื่องยนต์ที่ติดซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบที่ใช้งานหนัก และรอบจัดเริ่มประกาศใช้ คศ.1955 (พ.ศ.2498) มีคุณภาพสูงกว่า CC
          CD-II  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล 2 จังหวะ เริ่มประกาศใช้เมื่อปี 1988 (พ.ศ.2531) ส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ดีทรอยด์ ซึ่งใช้ในกิจการทางทหาร
          CE  สำหรับเครื่องยนต์ที่ติดซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบที่ใช้งานหนัก และรอบจัดเริ่มประกาศใช้ คศ. 1983 (พ.ศ.2526) มีคุณภาพสูงกว่า CD ป้องกันการกินน้ำมันเครื่องได้อย่างดีเยี่ยม
          CF  เป็นมาตรฐานในเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน สำหรับเกรดธรรมดา ( Mono Grade) เริ่มประกาศใช้เมื่อ คศ. 1994 (พ.ศ.2537) เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลทุกชนิดไม่ว่าจะใช้งานหนักหรือเบา สามารถใช้แทนในมาตรฐานที่รอง ๆ ลงมา เช่น CE, CD, CC ได้ดีกว่าอีกด้วย
          CF-2  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรุนใหม่ 2 จังหวะเริ่มประกาศใช้เมื่อปี 1994 (พ.ศ.2537)ส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ดีทรอยด์ ซึ่งใช้ในกิจการทางทหาร
          CF-4  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ 4 จังหวะที่ติดซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบที่ใช้งานหนักและรอบจัด เริ่มประกาศใช้เมื่อปี 1990 (พ.ศ.2533) เป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวม สามารถป้องกันการกินน้ำมันเครื่องได้ดีเยี่ยม
          CG-4  สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ 4 จังหวะซึ่งเป็นมาตรฐานยอดนิยมในปัจจุบัน เริ่มประกาศใช้ปี 1996 (พ.ศ.2539) เป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวม


ขอบคุณข้อมูล   http://marine.rtna.ac.th/Webpage/Comment/Com01_1.htm

          ปัจจุบัน น้ำมันเครื่องดีเซล ได้พัฒนาไปจนถึงขั้น CI แล้วครับ ดังรูปล่าง


ตัวอย่างน้ำมันเครื่องดีเซล เกรด API CI-4/SL

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มาตรฐานน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซิน


           จากบทก่อนหน้าที่ได้อธิบายเรื่องการดูเกรดของน้ำมันเครื่อง ระหว่างน้ำมันเครื่องดีเซลและเบนซินมาแล้วนั้น มาบทนี้ จะเจาะลึกลงในรายละเอียด ให้เห็นชัดขึ้นนะครับ ว่ามีรายละเอียดเพิ่มมาอย่างไร ตามมาครับ...
    
         ชั้นมาตรฐาน น้ำมันเครื่องเบนซิน

          SA  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินใช้งานเบาไม่มีสารเพิ่มคุณภาพ
          SB  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินใช้งานเบามีสารเพิ่มคุณภาพเล็กน้อย และสารป้องกันการกัดกร่อนไม่แนะนำให้ใช้ในเครื่องยนต์รุ่นใหม่
          SC  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตระหว่าง คศ. 1964-1967 (พศ.2507-2510)โดยมีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐาน SB เล็กน้อย เช่น มีสารควบคุมการเกิดคราบเขม่า
          SD  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตระหว่าง คศ. 1968-1970 (พศ.2511-2513)โดยมีสารคุณภาพสูงกว่า SC และมีสารเพิ่มคุณภาพมากกว่า SC
          SE  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตระหว่าง คศ. 1971-1979 (พศ.2514-2522)มีสารเพิ่มคุณภาพเพื่อเพิ่มสมรรถนะให้สูงกว่า SD และ SC และยังสามารถใช้แทน SD และ SC ได้ดีกว่าอีกด้วย
          SF  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตระหว่าง คศ. 1980-1988 (พศ.2523-2531)มีคุณสมบัติป้องกันการเสื่อมสภาพสามารถจะทนความร้อนสูงกว่า SE และยังมีสารชำระล้างคราบเขม่าได้ดีขึ้น
          SG  สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตระหว่าง คศ.1989-1993 (พศ.2532-2536)มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นกว่ามาตรฐาน SF โดยเฉพาะมีสารป้องกันการสึกหรอ สารป้องกันการกัดกร่อน สารป้องกันสนิมสารป้องกันการเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน และสารชะล้าง-ละลาย และย่อยเขม่าที่ดีขึ้น
          SH  เริ่มประกาศใช้เมื่อปี คศ. 1994(พ.ศ.2537) เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วมี ระบบใหม่ ๆ ในเครื่องยนต์ที่ถูกคิดค้นนำเข้ามาใช้ เช่น ระบบ Twin Cam, Fuel Injector, Multi-Valve, Variable Valve Timing และยังมีการติดตั้งระบบแปรสภาพไอเสีย (Catalytic Convertor) เพิ่มขึ้น
          SJ  เริ่มประกาศใช้เมื่อ คศ. 1997(พ.ศ.2540) มีคุณสมบัติทั่วไปคลายกับมาตรฐาน SH แต่จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดีกว่ามีค่าการระเหยตัว ( Lower Volatility) ต่ำกว่าทำให้ลดอัตราการกินน้ำมันเครื่องลงและมีค่าฟอสฟอรัส ( Phosphorous) ที่ต่ำกว่าจะช่วยให้เครื่องกรองไอเสียใช้งานได้นานขึ้น
       
ขอบคุณข้อมูล    http://marine.rtna.ac.th/Webpage/Comment/Com01_1.htm
    


ณ ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาน้ำมันเครื่องเบนซินได้สูงถึงเกรด SM แล้วครับ ดังภาพล่าง


ตัวอย่างน้ำมันเครื่องเบนซิน API SM / CF

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไม่ใช่แฟน..ทำแทนไม่ได้!!! แต่..น้ำมันเครื่องดีเซลและเบนซิน แทนกันด้าย...ย

 
          ถ้าท่านมีน้ำมันเครื่องที่เหลือจากการเปลี่ยนถ่ายครั้งก่อน หรือที่แถมมาตอนซื้อนั่นแหละครับ ลองสังเกตดูตรงฉลากที่ติดด้านหน้าแกลลอนดูครับ จะพบตัวหนังสือประมาณนี้
          ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องของเบนซิน จะเขียนประมาณว่า API SM/CF , API SL/CF หรือ API SJ/CF ...เป็นต้น
          ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องของดีเซล ก็จะเขียนประมาณว่า API CI-4/SL , API CH-4/SL หรือ API CG-4/SJ ...เช่นกัน
          มาดูความหมายของตัวอักษรกันดีกว่าครับ 
         ให้ดูอักษรตัวแรกที่ต่อจากคำว่า API ครับ
          
          " S " มาจากคำว่า service หรือ spark ignition engine หมายถึง เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดโดยใช้ประกายไฟจากเขี้ยวหัวเทียน ซึ่งหมายถึงเครื่องเบนซินนั่นเองครับ
         
          " C " มาจากคำว่า commercial หรือ compression ignition engine หมายถึงเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดโดยใช้ความร้อนจากการอัดตัวของอากาศ ซึ่งหมายถึงเครื่องยนต์ดีเซลนั่นเองครับ 
          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า เราสามารถใช้น้ำมันเครื่องชนิดเดียวกัน ได้ทั้งกับเครื่องดีเซลและเครื่องเบนซิน (เพราะน้ำมันยี่ห้อเดียวกัน จะระบุค่า S และ C ในแกลลอนเดียวกัน)
          และหากที่บ้านของท่าน มีทั้งรถเก๋งและปิคอัพ ท่านก็สามารถที่จะซื้อน้ำมันเครื่องยี่ห้อเดียว แล้วนำมาใส่ได้ทั้งสองคัน ก็เป็นการประหยัด และไม่ผิดกฎกฏิกาแต่อย่างใดทั้งสิ้นครับ (ส่วนที่แตกต่างของน้ำมันเครื่อง อยู่ที่เกรดของน้ำมันครับ โดยดูได้จากตัวอักษรที่ต่อจาก S และ C ครับ วันหน้าจะมาอธิบายเพิ่มเติมครับ ปรกติราคามักเป็นตัวกำหนดคุณภาพครับ ยิ่งแพงน้ำมันมักจะดี แต่ก็ควรเทียบยี่ห้อด้วยนะครับ บางครั้งเกรดเดียวกัน ต่างยี่ห้อก็ต่างราคานะครับ) 
          
          ซ.ต.พ. = ซึ่งต้องพิสูจน์
          note : API มาจาก American Petroleum Institute
                     สถาบันปิโตรเลียมของอเมริกา


ตัวอย่างน้ำมันเครื่องเบนซิน API SM/CF




ตัวอย่างน้ำมันเครื่องดีเซล API CH-4/SJ

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แบตฯ.(เตอรี่) เก่ามีค่า...อย่า...ทิ้ง !!!



          ถ้าเปรียบได้กับอวัยวะในร่างกายของคนเรา แบตเตอรี่ก็คงเทียบได้กับ "หัวใจ" ของคนเรานั่นเองครับ...
          ลองคิดดูซิครับ ว่ามีความสำคัญขนาดไหน? หากหัวใจของเราหยุดเต้นหรือไม่ทำงาน นั่นหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิต(ก็ตายนั่นแหละครับ!) ของแต่ละคนเลยทีเดียว
          รถยนต์ก็เช่นกันครับ...หากแบตเตอรี่เสื่อม หรือเสีย เก็บไฟไม่อยู่แล้ว รถยนต์ก็ไม่สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า เราไม่ต้องสูญเสียรถยนต์ไปทั้งคันเหมือนกับชีวิตของคนเรา แค่ถอดแบตเตอรี่ออกแล้วเปลี่ยนลูกใหม่ใส่กลับเข้าไป ก็สามารถใช้ได้ดังเดิมแล้วครับ
          เพียงแค่อยากให้ทราบว่า ทุกครั้งที่เปลี่ยนแบตเตอรี่ ไม่ว่าที่ร้านค้า, อู่ซ่อมรถ,หรือศูนย์บริการต่างๆ เค้าได้คิดราคาตีเทิร์นลูกเก่าให้ท่านแล้วหรือยังครับ
          รู้ไหมครับว่า...แบตฯ.เก่าของท่านนั้น (ขนาด 70 แอมป์) ที่ใช้กับปิคอัพของเรานั้น ราคา ณ ขณะนี้ (23/05/54) ประมาณ 400 บาทครับ (ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่เป็นคนกำหนดครับ) ก็ไม่น้อยเหมือนกันนะครับสำหรับเศรษฐกิจในขณะนี้
          ฉะนั้น หากมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งใด ก็อย่าลืมสอบถามกับร้านค้าที่ท่านไปเปลี่ยนด้วยนะครับ ว่าคิดราคาหักเทิร์นแบตฯ.ลูกเก่าให้ท่านหรือยัง จะได้ไม่เสียค่า.....ให้กับทางร้าน จะได้ไม่เจ็บใจภายหลังครับ...







...รู้จักกันซักนิด ???

                   
          บล็อกที่คุณผู้อ่านได้หลงเข้ามา จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันบ้าง เล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์เอนกประสงค์ หรือภาษาชาวบ้าน เรียกว่า "รถปิคอัพ" นั่นเองครับ... เป็นหลัก 
          ตัวผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือ GURU เฉพาะด้านแต่อย่างใด เพียงแต่อาศัย อ่านจากตำราบ้าง ครูพักลักจำบ้าง และอาศัยบางช่วงของเวลาที่ได้เข้ามาคลุกคลีเกี่ยวกับอะไหล่ เลยอยากถ่ายทอดประสบการณ์อันนี้ ผ่านตัวหนังสือ เพื่อผู้อ่านบางท่าน อาจจะได้ประโยชน์ไปบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะเก็บไว้กับตัวก็เสียประโยชน์เปล่าๆ
          หากบทความใด ไปกระทบกระเทือนไม่ว่าในเรื่องหนึ่งเรื่องใด และ/หรือ ทางหนึ่งทางใดต่อผู้อื่น ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น(ถ้ามี) เพื่อปรับปรุง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม มากที่สุด ต่อไป


                                                                                                            



                                                                                    ด้วยจิตคารวะ